สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการสืบสานและสร้างการเรียนรู้ของเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา

โครงการสืบสานและสร้างการเรียนรู้ของเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา ม.7 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล

ชื่อเรื่อง : ลานมหกรรมการละเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา สู่พื้นที่เรียนรู้ของเล่นชุมชน


“สวัสดีค่ะยินดีต้อนรับสู่ลานมหกรรมการละเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา” เสียงของ กัส - กัสมา หรนจันททร์ กล่าวต้อนรับสมาชิกในแฟนเพจ Satun Active Citizenship Platform –Sacp ภาพบรรยากาศน้องๆ ในชุมชนร่วมทำกิจกรรมสันทนาการอย่างสนุกสนาน เป็นเครื่องการันตีให้เห็นว่า กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

เด็ก ๆ ล้อมวงประชันรถของเล่นที่ประดิษฐ์จากเศษขยะเหลือใช้เพื่อนำมาแข่งกันในวันงาน เรียกเสียงหัวเราะสร้างความรื่นเริงให้กับผู้เข้าร่วมและคนจัดงาน

ทีมงานแนะนำโครงการพร้อมฉายหนังสั้น “ของเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” กำกับโดยกลุ่มเยาวชนบ้านโกตา เรียกเสียงปรบมือจากผู้ร่วมงานทั้งวัยเด็กวัยผู้ใหญ่ หากย้อนกลับไปก่อนเป็นภาพความสำเร็จแบบนี้ ทีมงานต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ทั้ง ตาต้า - นูรียา หวันสูอายุ, นาเดียร์ - นาเดียร์ เทียนนอก และ กัส พาย้อนเหตุการณ์ก่อนงานมหกรรมที่ได้รับความร่วมมืออย่างล้นหลามในวันนั้น


++ ROV free fire game ของเล่นสมัยใหม่ของชุมชนบ้านโกตา++

ในอดีตเราคงเห็นภาพเด็ก ๆ ล้อมวงเล่นตี่จับ ดีดลูกแก้ว ลูกข่าง ปั่นจักรยานรอบหมู่บ้าน เด็กผู้หญิงนั่งล้อมวงเล่นหมากเก็บ หมากหลุม หรือไม่ก็คงกระโดดยาง การละเล่นเหล่านี้เป็นภาพชินตาของผู้คนสมัยนั้น แต่ถ้ายุคปัจจุบัน ROV กับ free fire น่าจะเป็นเกมออนไลน์ที่ฮิตสุดในหมู่วัยรุ่นบ้านโกตาแม้อยู่ห่างไกลกันก็สามารถเล่นกันได้ผ่านมือถือเครื่องเดียว ในขณะที่ทำให้คนไกลอยู่ใกล้กันแค่เอื้อม แต่ก็ทำให้คนใกล้อยู่ไกลกันโดยไม่รู้ตัว

เกมทำให้เด็ก ๆ รวมตัวกันก็จริง แต่ส่วนมากมักก้มหน้าอยู่กับมือถือของตัวเองมากกว่าสื่อสารในชีวิตประจำวันกับคนรอบข้าง ไม่เหมือนกับการละเล่นพื้นบ้านในสมัยก่อน

จึงเป็นที่มาให้กลุ่มเยาวชนบ้านโกตา ริเริ่ม โครงการสืบสานและสร้างการเรียนรู้ของเล่นพื้นบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กเยาวชนในชุมชนหันมาสนใจการละเล่นพื้นบ้าน ที่บางอย่างก็ยังมีอยู่ในชุมชน ไม่ได้บอกให้หยุดหรืองดเล่นเกมกับมือถือ แต่แค่อยากให้ลดเวลา แล้วเงยหน้าขึ้นมาคุยกัน เล่นกันแบบตัวเป็นๆ กันบ้างก็พอ


++ เด็กรุ่นใหม่...ที่อยากเล่นของเล่นรุ่นเก่า++

“ตอนตัดสินใจทำโครงการเกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้าน พวกเราอยากให้น้อง ๆ ในชุมชน เล่นมือถือน้อยลง เลยคิดว่าน่าจะลองหากิจกรรมอย่างอื่นมาให้น้องๆ เล่นกัน เลยเลือกของเล่นพื้นบ้านในชุมชนบ้านโกตา” ตาต้า เล่า

ถึงแม้ไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มต้น แต่ทั้ง 3 คนก็ตั้งใจสานต่อโครงการนี้ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเยาวชนในชุมชนหันมาสนใจการละเล่นพื้นบ้านบ้าง

ทั้ง 3 สาวจึงเริ่มตั้งเป้าที่สานฝันให้โครงการให้สำเร็จ แม้ในใจลึก ๆ แอบหวั่นใจอยู่ไม่น้อย เพราะกลัวว่าของเล่นพื้นบ้านจะสู้เกมออนไลน์ไม่ได้ แต่สุดท้ายเพราะใจสู้ พวกเธอและทีมงานจึงร่วมกันวางแผนกิจกรรมเพื่อสานฝันที่วางไว้

  • รวบรวมการละเล่นพื้นบ้าน
  • ลงพื้นที่สอบถามผู้รู้
  • ทดลองทำ/ ทดลองเล่น
  • ชวนน้องในชุมชนหันมาเล่นของเล่นพื้นบ้าน

กิจกรรมที่พวกเธอร่วมกันออกแบบกับสมาชิกในโครงการ พวกเธอบอกว่าอาศัยถามจากคนใกล้

ตัวก่อน“พวกหนูเริ่มจากถามพ่อแม่ก่อนค่ะว่าตอนเด็ก ๆ เขาเล่นอะไรกันบ้าง ” หลังจากนั้นจึงนำคำตอบที่ได้จากพ่อแม่มารวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ของเล่นแต่ละชนิด แล้วล้อมวงชวนกันคุยย้อนความหลังเมื่อครั้งยังเด็ก เพื่อร่วมกันคิดต่ออีกว่า

ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเล่นการละเล่นพื้นบ้านอะไรบ้าง?

กระโดดยาง หมากเก็บ ว่าว ลูกข่าง (ลูกสิง) ลูกยาง กระบอกฉับโพง (ปืนกระบอกไม้ไผ่) ลูกแก้ว กงจักร แตรใบมะพร้าว รายชื่อของเล่นที่พวกเธอและเพื่อน ๆ ในทีมช่วยกันแลกเปลี่ยนรวมกับคำบอกเล่าจากพ่อแม่ หลังรวบรวมข้อมูลมาได้จำนวนหนึ่ง จึงเลือกของเล่นมาทั้งหมด 4 อย่างเพื่อใช้เป็นโจทย์ในการลงพื้นที่สอบถามผู้รู้ในชุมชนถึงวิธีการเล่น และขั้นตอนการทำ โดยหวังว่าท้ายสุดจะมีของเล่นให้น้อง ๆ ในชุมชนได้ลองเล่นดู


++ย้อนเวลา...เรียน เล่น ของเล่นโบราณ++

“พวกเราเลือกจากของเล่นที่ยังมีคนทำอยู่ในชุมชน อาศัยถามจากพ่อกับแม่ว่าคนในหมู่บ้านมีใครบ้างที่ยังทำของเล่นพื้นบ้านอยู่บ้าง” ตาต้า บอก

กระบอกฉับโพงหรือปืนไม้ไผ่ คือของเล่นที่กัสอาสาเป็นแกนนำหลักลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเพราะอยู่ใกล้กับบ้าน กัสอธิบายขั้นตอนการทำและวิธีการเล่นว่า กระบอกฉับโพงทำจากกระบอกไม้ไผ่ เลือกบ้องที่เป็นรู 2 บ้อง อีกบ้องมีไม้ยาวติดไว้ที่ปลายบ้อง เพื่อให้เมื่อสวมเข้าไปแล้วชนกับกระบอกอีกอันหนึ่งได้ วิธีการเล่นใส่กระดาษเปียกคล้ายเป็นลูกกระสุนอัดเข้าไปจะมีเสียงดัง คนจึงนิยมเรียกกันว่าปืนไม้ไผ่

“ตอนลงพื้นที่มีแต่ความน่าสงสัยอยู่ในหัว ทำไมต้องทำอย่างนั้น เพราะไม่เคยเห็นของเล่นนี้มาก่อน ไม่เคยรู้ว่ามีของเล่นแบบนี้อยู่ด้วย เลยถามคุณลุงทุกอย่างที่เราอยากรู้” กัสความรู้สึกที่ได้ลงไปสอบถามผู้รู้และลองเล่นของเล่นพื้นบ้าน นี่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของกัสที่ได้รู้จักกับกระบอกฉับโพงเป็นครั้งแรก

ส่วนตาต้า อยู่ใกล้บ้านผู้รู้ที่ทำ ลูกกาสิงหรือลูกข่าง เธอจึงรับผิดชอบในการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลและขั้นตอนการทำ ตาต้าอธิบายคุณสมบัติพิเศษของลูกข่างที่บ้านโกตาว่า

“ลูกข่างที่บ้านโกตาทำจากไม้สะตอเบา เพราะมีเนื้อสวยและน้ำหนักเบา เวลาเล่นจะมีเสียงเพิ่มอรรถรสในการเล่น”

ความยากในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลไม่ใช่การทำลูกข่างหรือการลองทำกระบอกฉับโพง แต่เป็นเรื่องเวลาว่างไม่ตรงกัน ทั้งตัวผู้รู้และเพื่อนในทีม กลุ่มเยาวชนแก้ไขปัญหาด้วยการนัดผู้รู้ล่วงหน้าก่อนลงพื้นที่ในรอบถัดไป


++ ทดลองทำจริง...เล่นจริง ++

“วุ่นวาย ทุกอย่างไม่ลงตัว ผิดบ้างถูกบ้าง” ตาต้า อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่จะต้องลองทำของเล่นพื้นบ้านด้วยตัวเอง

กลุ่มเยาวชน บอกว่า ต้องลงพื้นที่ 2-3 ครั้ง เพื่อสอบถามข้อมูลการเล่นของเล่นพื้นบ้านจากผู้รู้ ในครั้งสุดท้ายพวกเธอมีโอกาสได้ทดลองทำของเล่นกับผู้รู้ก่อนกลับมาลองทำแล้วเล่นเอง เพื่อทดสอบความสามารถของตัวเองก่อน หลังลงพื้นที่ครั้งสุดท้ายทีมงานนัดประชุมกันอีกครั้งเพื่อรวบรวมข้อมูล นำมาวางแผนการทำงานในขั้นตอนต่อไป

พวกเราใช้เวลาในการเตรียมของประมาณสองวัน อุปกรณ์ที่ใช้ทำของเล่นส่วนใหญ่เป็นของที่หาได้ในชุมชน ทั้งไม้ไผ่และไม้สะตอ ลูกยาง ส่วนกงจักรเราใช้ฝาน้ำอัดลมแบบจีบ” ตาต้าและกัสช่วยกันเล่าบรรยากาศวันเตรียมงานให้ฟัง

จะว่าไปก็เป็นภาพที่เห็นได้ยาก เมื่อเด็กรุ่นใหม่ที่อยากลองเล่นของเล่นแบบเก่า ต้องลุยป่าไปหาอุปกรณ์ ทั้งไม้ไผ่ หรือไม้สะตอเบา เพื่อนำมาทำเป็นของเล่นในยามว่าง กว่าจะได้ของเล่นแต่ละชิ้นใช้เวลาค่อนวัน ต่างจากการเล่นเกมออนไลน์ที่ใช้เวลาโหลดไม่กี่นาทีก็สามารถเล่นได้ แต่ในความนานของการทำของเล่นก็แฝงไปด้วยความสนุกที่หาไม่ได้ในโลกออนไลน์

ถ้าถามถึงความยากและวุ่นวายที่เกิดขึ้นสำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ตาต้าอาสาเล่าปัญหาที่เจอว่า

“สำหรับหนูรับผิดชอบการทำลูกข่าง ส่วนที่ยากที่สุดคือทำอย่างไรให้ลูกข่างหมุนได้ หลังทำเป็นลูกข่างแล้วต้องขัดด้วยกระดาษทรายให้เสมอกันทุกด้าน เพื่อให้ลูกข่างสามารถหมุนได้ดีและนาน ใช้เวลานานเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน อีกอย่างที่ไม่เป็นอย่างที่คิดคือลูกยาง ด้วยสภาพอากาศที่ทำในวันนั้นเป็นช่วงที่ฝนตกทำให้ลูกยางที่หามาชื้นไม่เหมาะกับการเล่นลูกยาง ส่วนกงจักไม่ติดปัญหาอะไรเพราะขั้นตอนการทำง่าย แค่ตีฝาน้ำอัดลมให้แบน แล้วเจาะรูร้อยเชือกเท่านั้น”

แม้มีปัญหาติดขัดบ้างระหว่างที่ทำของเล่น แต่สิ่งที่เป็นผลพลอยได้คือมีน้องๆ เยาวชนแวะเวียนเข้ามานั่งดู บ้างขอลองทำด้วย เล่นด้วย กลุ่มแกนนำเยาวชนจึงได้อาศัยช่วงเวลานี้ชักชวนน้องๆ เข้าร่วมกิจกรรมไปด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเรื่องหาอุปกรณ์ท้องถิ่นให้ด้วยอีกทาง นับเป็นโอกาสดีๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้กิจกรรมของเยาวชนที่ตั้งใจทำเพื่อชุมชนของตนเอง


++ ก่อนวันลงสนามแข่ง ++

ของเล่นกว่า 27 ชนิด ถูกรวบรวมผ่านการล้อมวงพูดคุยกันภายในทีม ทั้งของเล่นที่เคยเล่นเมื่อครั้งยังเด็ก และของเล่นรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า รวมถึงข้อมูลของเล่นทั่วไปที่หาได้จากอินเทอร์เน็ต ก่อนคัดเหลือของเล่นที่สามารถทำเองได้ วัสดุอุปกรณ์หาได้ในท้องถิ่น ประมาณ 10 อย่างเพื่อใช้แสดงในวันงานนิทรรศการที่จะมาถึง

ลานมหกรรมการละเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา คือเป้าหมายต่อไปของพวกเธอและเพื่อนสมาชิกเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงของเล่นพื้นบ้าน และยังใช้เป็นลานกิจกรรมเพื่อดึงผู้ใหญ่และเด็กในชุมชนให้เข้าร่วมกิจกรรม

ก่อนถึงวันงาน มีเรื่องราวสนุกให้พวกเธอได้ทำหลายอย่าง

“พวกเราในทีมช่วยกันถ่ายวิดีโอเอง ตัดต่อกันเอง เพื่อใช้เป็นสื่อในการเชิญชวนคนในชุมชนมาในวันงาน” กัสเล่าด้วยรอยยิ้ม

ตาต้าเสริมต่อว่า “พวกเราขี่รถซาเล้งวนรอบหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์แบบใช้ไมค์กับลำโพง ทำป้ายไวนิลติดหน้าโรงเรียนสถานที่จัดงาน ขี่รถประชาสัมพันธ์ประมาณ 5-6 คน พี่เลี้ยงขับรถ กัสเป็นคนพูดเชิญชวน ที่เหลือลงไปติดโปสเตอร์ เน้นติดตามร้านค้า ก่อนติดลงไปบอกเขาว่าขอติดโปสเตอร์หน่อยนะคะ เขาก็ถามว่ามาจากโครงการไหน ทำอะไร เราก็เล่าให้เขาฟังแล้วเชิญเขามาร่วมงานด้วย”

นาเดียร์ เล่าว่า ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำโปสเตอร์และช่วยตัดต่อวิดีโอ ถึงแม้เข้ามาในช่วงท้ายโครงการแต่นาเดียร์ก็ยินดีที่ช่วยอย่างสุดกำลัง

สถานที่จัดงานเป็นสิ่งสำคัญ กัส ตาต้า นาเดียร์และพี่เลี้ยง เข้าไปขอความร่วมมือกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโกตา เพื่อขอใช้สถานที่ในการจัดลานกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน

ส่วนผู้ชายรับหน้าที่ในการจัดเตรียมอุปกรณ์ของเล่นพื้นบ้าน แบ่งเป็นของเล่นที่ทำสำเร็จพร้อมให้น้อง ๆ ได้ลองเล่น และอุปกรณ์ให้ได้ทดลองทำด้วยตัวเอง เช่น กระบอกฉับโพง รถของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ สำหรับผู้เข้าร่วมจำนวน 50 คน ก่อนวันงานทีมงานจัดประชุมกันอีกครั้งเพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรมและแบ่งบทหน้าที่เพื่อให้การทำงานครั้งนี้ราบรื่น เมื่อทุกอย่างพร้อมที่เหลือก็คือรอเวลา


++ลานมหกรรมการละเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา พื้นที่เรียนรู้ของเล่นพื้นบ้าน++

“สวัสดีค่ะขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ลานมหกรรมการละเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตาค่ะ” เสียงกัสกล่าวต้อนรับ ผู้ปกครองและน้อง ๆ ในชุมชนที่เริ่มทยอยเข้ามาในสถานที่จัดกิจกรรมนับไปนับมา จากที่คาดหวังไว้ 50 คน พอถึงเวลามีคนเข้ามาร่วมงานกว่า 100 คน ทำให้ทีมงานดีใจจนบอกไม่ถูก

กิจกรรมเป็นสองช่วงคือช่วงค่ำเป็นกิจกรรมของน้อง ๆ ในชุมชนได้แข่งขันการทำรถแข่งจากขวดน้ำพลาสติกสำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจัดแข่งขันกระโดดยาง สร้างความสนุกให้กับน้อง ๆ อย่างมาก สลับกับสันทนาการแจกของรางวัลเป็นสมุด ดินสอให้กับเด็กๆ ที่ร่วมแข่งขัน

ในช่วงกลางคืนเป็นกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน เช่น ลูกสะบ้า กระโดดยาง ลูกข่าง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือพาย้อนกลับไปในวัยเด็ก ผู้ใหญ่หลายคนถึงกับสะท้อนความรู้สึกให้ฟังว่า

“ดีใจที่ได้มีโอกาสกลับมาเล่นของเล่นพื้นบ้านอีกครั้ง เหมือนพาตัวเองกลับไปสู่วัยเด็ก” เสียงหัวเราะ เสียงเพลงสันทนาการเข้าจังหวะ บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความสุข ทั้งทีมงาน เด็กในชุมชน และกลุ่มผู้ใหญ่สร้างความประทับใจให้กับตาต้า กัส และนาเดียร์อยู่ไม่น้อย

“แม้ว่าจะเคยมีผู้ใหญ่บางท่านเคยบอกว่าเราไม่มีทางทำสำเร็จหรอก เราเคยจัดกิจกรรมมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นไม่มีใครมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราเลย ตอนนั้นท้อมาก วันนี้เกินความคาดหวังของเรามาก ตอนแรกแอบกลัวเพราะคิดว่าจะไม่มีใครมา มาวันนี้พวกเราขอบคุณผู้ปกครองทุกท่านที่มาร่วมงานของเราค่ะ” ความในใจของกัสที่สะท้อนให้กับผู้เข้าร่วมงานในวันนั้น

กัส บอกว่าสิ่งที่เธอประทับใจมากที่สุดคือเสียงปรบมือที่ได้รับจากคนในชุมชนหลังชมหนังสั้นที่พวกเธอและเพื่อนตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวการทำโครงการของตัวเองให้ผู้ร่วมงานได้ดู นอกจากความประทับใจแล้ว กิจกรรมนี้ช่วยฝึกความกล้าแสดงออกโดยเฉพาะทักษะการพูดให้กับกัส จนได้มีโอกาสเป็นพิธีกรในงานนิทรรศการ งานประชาสัมพันธ์เข้าร่วมงาน จากเดิมที่กลัวไมค์ ไม่กล้าจับ แต่ตอนนี้กัสบอกเลยว่าเป็นอะไรที่ง่ายมากสำหรับเธอ

ส่วนตาต้าบอกว่าสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขในวันนั้น คือการได้เห็นภาพผู้ใหญ่ในชุมชนได้กลับมาเล่นของเล่นพื้นบ้านที่พวกเธอเตรียมไว้ให้อย่างสนุกสนาน คำชื่นชมที่ได้รับจากผู้ใหญ่สร้างกำลังใจให้กับเธอเป็นอย่างมาก เธอพบว่าตนเองได้รับการพัฒนาทักษะการถ่ายวิดีโอ นำไปใช้ในรายวิชาภาษาไทย เพื่อนำเสนองานให้กับครูในชั้นเรียน อีกส่วนคือความกลัวลดลงความกล้ามากขึ้น จากเดิมไม่กล้าจับไมค์แต่เพราะได้เข้าร่วมกิจกรรมในเวทีต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ช่วยให้เธอลดความกลัวลงไปได้เยอะมาก

ด้านนาเดียร์เอง บอกว่าสิ่งที่เธอประทับใจคือมีคนชื่นชมโปสเตอร์ที่เธอเป็นคนออกแบบว่าสวย เพราะเห็นโปสเตอร์ของเธอจึงสนใจมาเข้าร่วมงานในวันนี้ นาเดียร์ ยอกว่า ก่อนหน้านี้เป็นคนเก็บตัวไม่ค่อยออกมาสุงสิงกับใคร แต่โครงการนี้ช่วยพาเธอออกมาเจอกับเพื่อนๆ ทำให้เธอพูดมากขึ้น ส่วนทักษะด้านงานกราฟฟิคที่ได้ใช้ในการทำโปสเตอร์ นาเดียร์นำไปปรับใช้กับการนำเสนองานในรูปแบบพาวเวอร์พ้อยที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นจากเดิม

หลังจบงานกัส ตาต้า และนาเดียร์ยังหมั่นสังเกตน้อง ๆ และคนในชุมชนอยู่เป็นระยะ พบว่ามีไม่น้อยที่นำเทคนิคการทำของเล่นพื้นบ้านของทีมงานไปทำเล่นกันเอง เช่น รถแข่งจากกระป๋องน้ำและของเหลือใช้ การเล่นกระโดดยางและกระบอกฉับโพง ที่สำคัญหลังจบกิจกรรมในวันงานมหกรรม พวกเธอบอกว่าอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนมากขึ้น เส้นทางของการทำโครงการคงเปรียบเสมือนการเล่นเกมต่อสู้ ที่ต้องอาศัยความอดทน ช่วยกันพิชิตเควสในแต่ละด่าน ซึ่งพวกเธอสามารถพิชิตเควสได้ทุกด่านจนกลาย The Winner ในเควสนี้…

///////////////////



บทสัมภาษณ์โครงการสืบสานและสร้างการเรียนรู้ของเล่นพื้นบ้าน บ้านโกตา ม.7 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล


แกนนำเยาวชน

  1. นางสาวนูรียา หวันสูอายุ ชื่อเล่น ตาต้า  โรงเรียนทุ่งหว้าวิทยาคาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
  2. นางสาวนาเดียร์ เทียนนอก ชื่อเล่น นาเดียร์   โรงเรียนนมุสลิมสตูลวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
  3. นางสาวกัสมา หรนจันททร์ ชื่อเล่น กัส  โรงเรียนกำแพงวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4



ถาม : อยากให้เราลองเล่าที่มาของการทำโครงการให้ฟังหน่อยว่าทำไมถึงเลือกทำโครงการนี้

ตาต้า : พี่ที่ทำโครงการแรกเป็นผู้ชายหมดเลย นั่งคุยกันว่าเราจะทำโครงการเกี่ยวกับอะไร แล้วมีคนหนึ่งเสนอมาว่าทำเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้าน เขาก็เลยรวมกลุ่มกันทำโครงการเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านขึ้นมา แต่ตอนแรกพี่เลี้ยงไม่ใช่คนนี้แต่เป็นอีกคน แล้วทำโครงการมาสักระยะเขารู้สึกว่าพี่ผู้ชายไม่น่าจะทำต่อได้ เลยมาชวนแล้วบังปิงก็เข้ามาชวนก็เลยดึงพวกหนูผู้หญิงเข้ามาด้วยค่ะ


ถาม : ตอนนั้นทำไมเราถึงตอบตกลงสานต่อโครงการนี้

ตาต้า : หนูคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าเราอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านของเราไว้ ทำให้รุ่นน้อง รุ่นหลานได้รู้เกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้าน รุ่นหนูก็ไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเล่นกันส่วนมากเล่นเกมมือถือ ก็เลยอยากเอากลับมาให้น้องรุ่นหลังที่ไม่เคยเห็นเขาได้ลองเล่น


ถาม : นาเดีย ตาต้า กัส มาทำโครงการนี้ ก่อนหน้านี้เราเป็นสมาชิกในโครงการอยู่แล้วหรือว่าเราก็อยู่บ้าน ของเราปกติยังไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการ

ตาต้า : ตอนนั้นมีตาต้า กับกัสที่ทำโครงการมีผู้หญิงแค่สองคนที่เข้าร่วม


ถาม : ตาต้ากับกัสมาทำโครงการก่อน ตอนที่เราทำโครงการเกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้านเรามีเป้าหมายในการทำโครงการเพื่ออะไร

ตาต้า : เป้าหมายเพื่อให้น้องๆ ในหมู่บ้านได้เล่นของเล่นพื้นบ้าน และก็ได้ออกห่างจากโทรศัพท์ เหมือนกับว่าช่วยให้เราออกห่างจากโทรศัพท์ด้วยไม่ใช่แค่ว่าน้องๆ อย่างเดียว


ถาม : ในชุมชนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง ทำไมเราถึงอยากให้น้องๆ ออกจากโทรศัพท์

ตาต้า : เด็กวัยรุ่นเขาไม่ค่อยทำอะไรกัน เล่นโทรศัพท์อย่างเดียว


ถาม : ปกติในชุมชนผู้ใหญ่มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำไหมในหมู่บ้าน

ตาต้า : จะมีกีฬาของหมู่บ้านแต่ก็นาน ๆ มีครั้ง


ถาม : แล้วเวลาส่วนใหญ่เด็ก ๆ มีการรวมกลุ่มกันไหมหรือว่าต่างคนต่างอยู่

ตาต้า : มีบ้างแต่ส่วนมากจะมีการรวมกลุ่มกันเล่นเกมมากกว่า


ถาม : เกมที่ว่าคือเกมอะไรบ้าง

ตาต้า : ฟรีไฟน์ ROV เล่นในโทรศัพท์


ถาม : เล่นอยู่ที่บ้านใครบ้านมันหรือว่ามารวมกลุ่มกันเล่น

ตาต้า : บางคน เด็กวัยรุ่น ม. 1,2, 3 จะมารวมกลุ่มกันแถวโรงเรียนหรือตามสถานที่ ที่มี wifi


ถาม : ปัญหาหลัก ๆ ในชุมชนก็คือส่วนใหญ่เด็กจะเล่นเกม ติดมือถือ แล้วเราสามคนเล่นเกมพวกนี้ไหม

ตาต้า : เล่นบางครั้ง


ถาม : ประเมินตัวเองว่าก่อนที่จะทำโครงการเราคิดว่าเราเล่นเกมอยู่ในระดับ

ตาต้า : เล่นไปงั้น ๆ


ถาม : เป้าหมายหลัก ๆ ของเราคืออยากที่จะให้น้อง ๆ ในชุมชนที่เคยเล่นเกมมือถือลองมาเล่นของเล่น พื้นบ้านหรือว่าของเล่นโบราณแทนใช่ไหม เราคิดว่าตอนนั้นลึก ๆ จะทำได้อย่างที่เราคาดหวังไหม

ตาต้า : ยังไม่คิด ยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จไหม


ถาม : ตอนนั้นที่ยังไม่แน่ใจเพราะอะไร

ตาต้า : เพราะการรวมกลุ่มของน้อง ๆ เวลาชวนน้อง ๆ มาเล่นกันไม่ค่อยมีเด็กมาในช่วงแรก ๆ


ถาม : เรามีเป้าหมายแล้วคือต้องการให้น้อง ๆ ในชุมชนลองหันมาเล่นการละเล่น หรือว่าของเล่นพื้นบ้านในชุมชนของเรา แล้วเรามีวิธีการหรือว่ากิจกรรมอะไรบ้างที่จะทำให้น้องๆ หันมาเล่นการละเล่น พื้นบ้านของเรา ลองเล่ารายละเอียดกิจกรรมของเราให้ฟังหน่อยว่าทำอะไรบ้าง

ตาต้า : ก็มีกิจกรรมชวนกันเล่น ชวนกันทำ ชวนน้อง ๆ มารวมตัวกันเพื่อทำของเล่น ว่าทำอย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ถ้าเป็นว่าว พอทำเสร็จแล้วก็มีการแข่งกันว่าใครสูงกว่า


ถาม : ก่อนที่เราจะสอนน้องให้น้องทำของเล่นเราต้องไปหาข้อมูลก่อนไหม

ตาต้า : หาข้อมูลก่อนค่ะ หาข้อมูล แล้วมาหัดทำก่อน ก่อนที่จะไปสอนให้น้องทำ การหาข้อมูลเราหาจากคนในชุมชน และผู้รู้ในหมู่บ้าน


ถาม : ตาต้า ในโครงการเรารับผิดชอบหรือว่ามีบทบาทอะไรในโครงการคะ

ตาต้า : เป็นเลขา


ถาม : กัสละเป็นอะไรในโครงการ

กัส : เป็นสมาชิกค่ะ


ถาม : นาเดียร์ละ

นาเดียร์ : เป็นสมาชิก


ถาม : อยากให้เราลองเล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนที่เราบอกว่าต้องลงพื้นที่ไปหาข้อมูล 3 คนแบ่งหน้าที่กันทำอะไรบ้าง ตาต้า ตอนลงพื้นที่ทำอะไร มีการประชุมกันก่อนลงพื้นที่ไหม

ตาต้า : ตอนที่ลงพื้นที่หาข้อมูลเดียร์ยังไม่ได้มา มีพวกหนูแล้วพี่ๆ ผู้ชาย แบ่งหน้าที่กันว่าคนนี้ไปบ้านใครแล้วพอลงพื้นที่อีกรอบก็สอบถามผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องของเล่นว่าทำอย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไร


ถาม : ของตาต้า ตอนไปเราไปลงพื้นที่ที่บ้านไหน เป็นของเล่นอะไรให้ฟังหน่อย

ตาต้า : ไปลงพื้นที่ที่บ้าน...เป็นของเล่นลูกข่าง สอบถามว่าทำอย่างไร พอดีว่าคนที่ทำเป็นมีคนเดียวในหมู่บ้าน ก็ไปสอบถามเขาว่าทำอย่างไร ทำจากไม้อะไร


ถาม : แล้วเป็นอย่างไรบ้างข้อมูลที่ได้ทำจากไม้อะไร

ตาต้า : ลูกข่างทำจากไม้สะตอเบา เพราะว่ามันมีเนื้อที่สวยและทำให้เวลาเล่นส่งเสียงออกมานิดหน่อย


ถาม : อย่างเวลาที่เราเลือกลงพื้นที่ ก่อนที่เราจะเลือกลงพื้นที่เรารู้ได้อย่างไรว่าบ้านไหนเค้าเก่งเรื่องลูกข่าง บ้านนี้มีความรู้เรื่องนี้ เราไปเอาข้อมูลพวกนี้มาจากไหน

ตาต้า : ถามจากพ่อแม่เรานี่แหละค่ะ ว่ามีใครทำของเล่นนี้เป็นบ้าง


ถาม : อาศัยถามจากผู้ปกครองกันก่อนว่าบ้านไหนทำอะไรเป็น ตอนที่ถามข้อมูลจากผู้ปกครองเราได้ข้อมูลเบื้องต้นมามีอะไรบ้าง

ตาต้า : ว่าว ลูกข่าง ลูกหัน ลูกยาง


ถาม : เราใช้วิธีการไปถามพ่อแม่เราก่อนใช่ไหม ถามอย่างไรลองเล่าให้ฟังหน่อยสิตอนที่เราถามกัน

ตาต้า : ถามว่าป้ะรู้ไหมว่าคนในหมู่บ้านมีตรงไหนที่ทำของเล่นพื้นบ้านเป็นบ้าง ใครทำอะไรเป็นบ้าง


ถาม : แล้วพ่อแม่ว่าไงบ้าง

ตาต้า : เขาก็บอกว่าคนนี้ ๆ พอดีว่าเมื่อก่อนเขาเล่นด้วยกัน ก็เลยรู้


ถาม : ตาต้าไปลงพื้นที่ถามข้อมูลเกี่ยวกับลูกข่าง อันนี้เราเลือกเองว่าเราจะไปถามข้อมูลเกี่ยวกับลูกข่าง หรือว่าแบ่งกันหาข้อมูลอย่างไร

ตาต้า : สมมุติว่าเราลงพื้นที่ประมาณ 4 พื้นที่แบ่งกัน ให้คนนี้ลงพื้นที่ตรงนี้ ๆ ตามพื้นที่ ๆ เราอยู่ใกล้


ถาม : แล้วกัส ตอนลงพื้นที่เราไปถามของเล่นชนิดไหน

กัส: กระบอกฉับโพง จะเป็นกระบอกไม้ไผ่ ทำเป็นบ้องที่เป็นรู อีกอันจะมีไม้ยาวให้พอมันเข้าไปแล้วชนกับกระบอกอีกอันหนึ่งได้ แล้วใส่กระดาษทิชชู่เปียก แล้วอัดเข้าไปจะมีเสียง


ถาม : กัสลองเล่าบรรยากาศตอนที่เราลงพื้นที่ไปถามหน่อยว่าเราเป็นอย่างไรบ้าง เรามีคำถามไปถามไหม

กัส : หนูถามขั้นตอน เพราะว่าไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นของเล่นนี้มาก่อน ไม่เคยรู้เลยว่ามันมีอยู่


ถาม : ตอนที่เราลงไปถามเขาความรู้สึกตอนนั้นเราเป็นอย่างไรบ้าง

กัส : มันมีแต่ความน่าสงสัยอยู่ในหัว ทำไมต้องทำอย่างนั้น


ถาม : แล้วเราถามไหมที่เราบอกว่าเราสงสัยอยู่ในหัว

กัส : ถามบ้าง ถามว่าทำไมเขาต้องทำแบบนี้ ทำไมต้องทำแบบนั้น แล้วเขาก็ตอบ


ถาม : แล้วเขาตอบว่าอย่างไรบ้าง

กัส : เขาบอกว่ามันจะมีไม้ไผ่ เหมือนต้องเอาไม้ไผ่ที่มีบ้อง เป็นไม้ไผ่ทั่วไปไม่ได้ต้องเป็นไม้ไผ่พิเศษของมันถึงจะทำได้


ถาม : ตอนที่เราไปถามครั้งแรกเราลงพื้นที่กี่รอบที่ลงไปถามผู้รู้

กัส : ประมาณ 2-3 รอบค่ะ


ถาม : รอบแรกที่เราไปถาม เราไปถามเกี่ยวกับข้อมูลธรรมดาทั่วไปก่อนใช่ไหมคะ

กัส : ก็ไปถามเกี่ยวกับของเล่นนี่แหละค่ะว่าเล่นอย่างไร พอไปรอบสองก็มีการพาลงพื้นที่ไปหาตัดไม้ไผ่แล้วบอกว่าแบบนี้ใช้ได้ แบบไหนใช้ไม่ได้


ถาม : แต่ละรอบที่เราลงไปเราแยกไปลงพื้นที่หรือว่าเราลงพร้อมกัน

ตอบ : ส่วนมากจะลงพร้อมกัน ลงด้วยกัน ใครรับผิดชอบพื้นที่ไหนก็จะเป็นคนเก็บข้อมูล คนถาม


ถาม : ลงครั้งที่หนึ่งสอบถามข้อมูลทั่วไปก่อน ครั้งที่สองจะเรียนรู้กับเขา ครั้งที่สามเราไปทำอะไร

ตาต้า : ลองทำ ลองเล่นกันเองในกลุ่มก่อน


ถาม : เวลาที่เราลงพื้นที่กันแรก ๆ เรามีการประชุมกันก่อนไหม หรือว่าจดคำถามไหมว่าจะไปถามข้อมูล เกี่ยวกับอะไรบ้าง

ตาต้า : มีการประชุมก่อนค่ะว่าเรื่องไหนที่คิดว่าเราจะไปถาม


ถาม : ต้องไปนัด ไปบอกเค้าก่อนไหมว่าเดี๋ยวเราจะเข้าไป

กัส : เราต้องไปนัดวันเขาก่อน เพราะว่าบางทีเขาก็ไม่ว่างต้องไปทำธุระก็มี


ถาม : อย่างนี้ตอนลงพื้นที่อย่างของตาต้ามีปัญหาอะไรไหมในการลงไปถามข้อมูล

ตาต้า: ส่วนมากเป็นเรื่องของเวลาที่ไม่ตรงกัน เป็นเรื่องของเวลาที่ผู้รู้ไม่ค่อยอยู่บ้าน บางครั้งเหมือนกับว่าพวกเราเองก็ว่างไม่ตรงกัน


ถาม : แล้วเรามีวิธีการแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้าง

ตาต้า : ก็นัดวันที่เราว่างตรงกันหนึ่งวัน ก่อนหน้าเราอาจจะไปหาข้อมูลมาก่อนก็ได้แล้ววันที่เราว่างก็ค่อยไปพร้อมกัน


ถาม : กัสละ ของกัสมีปัญหาอะไรไหมในการลงพื้นที่

กัส : เหมือนกันคือเรื่องของเวลาว่างไม่ตรงกัน หรือบางคนก็ว่างตอนเย็น แต่เราไปสัมภาษณ์ตอนบ่าย เราก็จะลงไปสัมภาษณ์ก่อนแล้วค่อยให้เขาตามไป


ถาม : แล้วกับทางผู้รู้ของเราละคะ ที่เราไปถามเขาให้ความร่วมมือดีไหม

กัส : เขาให้ความร่วมมือดีค่ะ


ถาม : เรามีการแนะนำตัวไหมว่าเรามาจากไหน มาทำอะไร

กัส : มีแนะนำค่ะ เราชื่ออะไรเขาก็รู้อยู่แล้ว แต่เราก็บอกว่าเรามาทำโครงการเกี่บวกับอะไร เขาก็ให้ความร่วมมือดี


ถาม : อันนี้คือในส่วนของการลงพื้นที่ เราลงประมาณ สองสามรอบ เรามีการเก็บข้อมูลหรือว่าบันทึกข้อมูล อะไรไหมเวลาลงพื้นที่แต่ละครั้ง

ตาต้า : มีค่ะ เราเก็บภาพ ข้อมูลการทำของเล่น บันทึกเสียงบ้างบางครั้ง แต่ถ้าจดทันก็ไม่บันทึกเสียง


ถาม : ถ้าจดใครจะเป็นคนจดหลัก ๆ หรือว่าก็ช่วยกันจด

ตาต้า : ตาต้าจะจดกับกัส


ถาม : ยากไหมเวลาที่จดข้อมูล

ตาต้า : ความยากคือเราจดข้อมูลไม่ทัน เพราะว่าเราจำไม่ได้ว่าเขาพูดอะไรบ้าง


ถาม : เวลาเราจดไม่ทันเราทำอย่างไร เราบอกเขาไหมว่าขอทวนอีกรอบหนึ่งนะคะ

ตาต้า : บางทีก็บอกว่าอะไรนะคะ ถามซ้ำอีกรอบ


ถาม : อยากให้เราลองเล่าความรู้สึกของเราตอนที่เราลงพื้นที่ สอบถามข้อมูลเรื่องของเล่นเรารู้สึกอย่างไรบ้าง ไม่เคยรู้จักมาก่อน หรือว่าสนุก อยากเล่นตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ตาต้า : ตื่นเต้นอยากลองเล่น

กัส: อยากลองเล่น เราไม่เคยเห็นแล้วอยากลองเล่น อยากลองทำดูบ้าง


ถาม : ที่เราบอกว่าเราเลือกลงพื้นที่ 4 พื้นที่มีอะไรบ้าง

ตาต้า : ลูกข่าง มีกระบอกฉับโพง ลูกหันยาง กับกรงจักร


ถาม : แต่สองอันนี้จะเป็นเพื่อนอีกคนไปลงพื้นที่ใช่ไหม

ตาต้า : ส่วนมากเราก็ไปพร้อม ๆ กัน


ถาม : ทำไมเราถึงเลือกของเล่น 4 อย่างนี้ในการลงพื้นที่

ตาต้า: เพราะว่าคนที่ทำเป็นมีน้อย แล้วของเล่นอื่นเราสามารถหาจากในเน็ตเองได้


ถาม : ส่วนใหญ่เวลาลงพื้นที่ใช้ช่วงเวลาไหนหรือว่าช่วงเย็น

ตาต้า : ช่วงเย็นค่ะ ส่วนมากจะเป็นช่วงเย็นเสาร์ อาทิตย์


ถาม : เวลาลงพื้นที่เสร็จแล้วเรามีการมานั่งประชุมกันไหมว่าได้ข้อมูลอะไรบ้าง

ตาต้า : มีการกลับมานั่งคุยค่ะ ส่วนใหญ่พี่เลี้ยงจะพาคุย


ถาม : พอหลังจากที่ทำกิจกรรมลงพื้นที่แล้ว กิจกรรมต่อไปคืออะไรคะ หลังได้ข้อมูล ได้ของเล่นมาแล้วทำอะไรต่อ

ตาต้า : เราลองทำกันเองแล้วรวบรวม ก่อนที่เราชวนน้อง ๆ เล่นเราต้องเล่นเป็นก่อน


ถาม : หลังลงพื้นที่ได้ข้อมูลมาเสร็จเรียบร้อย ไปเรียนรู้วิธีการทำกับผู้รู้มาแล้ว เราเลยมาลองทำของเราเอง แล้วลองเล่นเอง ลองเล่าขั้นตอน วิธีการและบรรยากาศให้ฟังหน่อยสิว่าตอนที่เรามาลองทำ มาลองเล่นกันเองเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

ตาต้า : มันวุ่นวาย ทุกอย่างไม่ลงตัว ผิดบ้างถูกบ้าง


ถาม : ผิดบ้างถูกบ้างหมายถึงว่าเราทำผิด ทำถูกใช่ไหม ตัวของเล่น แล้วอย่างนี้ตอนที่เราทำเราต้องไปเตรียมอุปกรณ์ ต้องไปหาอุปกรณ์ใช่ไหมคะ มีการแบ่งหน้าที่กันไหมว่าใครไปหาอะไร

ตาต้า : ส่วนมากผู้ชายจะไปหา ผู้หญิงคอยคุมงาน เช่น ยืนกดดันเฝ้าเลยเพราะถ้าไม่เฝ้าจะไม่เสร็จ


ถาม : มีการประชุมกันก่อนไหมว่าจะต้องไปเอาอะไรบ้าง

ตาต้า : ประชุมค่ะ


ถาม : ตื่นเต้นไหมเพราะว่าเราจะได้ลองทำแล้วด้วยตัวเอง ทำไมกัสไม่ตื่นเต้น

กัส : เพราะว่าไม่รู้จะตื่นเต้นไปทำไม


ถาม : เราใช้เวลาที่วันในการเตรียมอุปกรณ์ เตรียมของ

กัส : ประมาณสองวัน


ถาม : ส่วนใหญ่อุปกรณ์ที่เอามาทำของเล่นเป็นอะไร เป็นไม้ไผ่หรือว่าเป็นอะไร

กัส : เป็นไม้ไผ่ เป็นอุปกรณ์ท้องถิ่นในหมู่บ้านเรานี่แหละค่ะ ไม้สะตอ ลูกยาง กงจักรใช้ฝาของน้ำอัดลม


ถาม :ตอนที่เราเตรียมอุปกรณ์พวกนี้ เราหากันเอง เตรียมกันเองหรือว่ามีผู้ใหญ่ในชุมชนเข้ามาช่วยไหม

ตาต้า : มีผู้ปกครองช่วยด้วยแล้วก็เตรียมกันเอง


ถาม : เตรียมของมาแล้ว มีปัญหาอะไรไหมระหว่างเตรียมของ

ตาต้า : มีค่ะบางครั้งก็ฝนตกแล้วไปตัดไม่ได้


ถาม : แต่ว่าสุดท้ายอุปกรณ์ครบทุกอย่างใช่ไหม แล้วพอถึงขั้นตอนที่ต้องลองทำเป็นอย่างไรบ้างตอนลองทำติดอะไรตรงไหนบ้าง

ตาต้า : อย่างลูกข่างเวลาทำแล้วมันไม่ไป ก็ต้องแก้ไขให้มันได้บางลูกมันไม่หมุน เพราะว่าตอนที่เราเอากระดาษทรายมาขัดมันไม่เสมอกัน ต้องเท่ากัน


ถาม : อย่างกงจักรติดปัญหาอะไรไหม

ตาต้า : ไม่ค่อยติดปัญหาอะไรค่ะ แค่เอาฝามาทุบให้แบน เจาะรูตรงกลาง ใส่เชือกแล้วดึง


ถาม : อีกอันคือลูกหัน หรือลูกยาง ติดขัดอะไรไหม

ตาต้า : ลูกยางในสวนยางมันเปียกเกิน บางอันมันมันไปแล้วมันไม่หมุนกลับมา การผูกเชือกของเราด้วย


ถาม : เวลาที่มีปัญหาทำไม่ได้ เรามานั่งคุยกันไหมว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้ ๆ

ตาต้า : ก็คุยกันค่ะ คุยกับผู้รู้ด้วย พี่เลี้ยงเราด้วย


ถาม : เราให้ผู้รู้ที่เราไปถามเขามานั่งอยู่กับเราด้วยไหมหรือว่าเราทำกันเองเลย

ตาต้า : บางครั้งก็มีมานั่ง บางคนก็มานั่งด้วย แต่มาแค่แป๊บเดียวแล้วก็ไป


ถาม : ตอนทำเราทำทั้ง 4 อย่างพร้อมกันเลยหรือว่าค่อยๆ ทำ ทีละอย่าง

ตาต้า : ค่อย ๆ ทำทีละอย่าง


ถาม : แต่สมาชิกทำด้วยกัน

ตาต้า : วางแผนกันว่าทำอะไร อันไหนก่อน ถ้าทำอันไหนไม่สำเร็จก็จะไปทำอันอื่นก่อน


ถาม : ตอนที่เราลองทำเราแบ่งไหมว่าใครทำอะไร หรือว่าทำด้วยกันหมดเลย

ตาต้า : ทำด้วยกันเลย


ถาม : ตอนที่เราลองทำของเล่น คิดว่ามีปัญหาอะไรไหมที่คิดว่ายากที่สุดสำหรับกิจกรรมนี้เลย

ตาต้า : จะเป็นเรื่องคนไม่ให้ความร่วมมือกัน เพื่อนในทีม บางคนเขาก็ไม่อยู่บ้าง ไม่สนใจบ้าง


ถาม : ตอนที่เพื่อนไม่ช่วยเราทำ ไม่สนใจเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

ตาต้า : มีบอกพี่เลี้ยงบ้าง บางครั้งก็ว่าก็บ่น บางคนก็ช่วยบางคนก็เหมือนเดิม


ถาม : เป็นปัญหาที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยากทำต่อไหม หรือว่าไม่ได้อะไรมากยังทำได้

ตาต้า : ก็มีไม่อยากทำบ้าง เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราทำคนเดียว ท้อ ๆ แต่พี่เลี้ยงก็บอกว่าให้เราสู้


ถาม : ตอนที่เราลองทำ ลองเล่นเราใช้สถานที่ไหนในการทำ

กัส : แต่ละครั้งไม่เหมือนกันบางครั้งก็บ้านหนู (ตาต้า) บางครั้งก็บ้านกัส สลับกันไป เพราะว่าเอาที่ใกล้กับสถานที่ของผู้รู้มากกว่า ถ้าเป็นกระบอกฉับโพง ก็จะไปทำที่ใกล้กับพื้นที่ที่มีไม้ไผ่


ถาม : ตอนที่เราทำ น้อง ๆ ในชุมชนเห็นหรือยังว่าเรากำลังทำของเล่นกันอยู่ เขาหันมาสนใจกันไหมตอนนั้น

ตาต้า : บางครั้งก็มีน้อง ๆ มานั่งดูด้วยค่ะ


ถาม : เขาถามไหมว่าเราทำอะไรกัน

ตาต้า : ถามค่ะ บางคนก็บอกว่าขอทำบ้างได้ไหม เราก็ให้น้องลองทำดู


ถาม : น้องก็เริ่มหันมาสนใจ เริ่มอยากรู้ว่าเราทำอะไรกันแล้วใช่ไหมคะ ตอนนั้นเราเริ่มชวนน้องหรือยังว่าถ้า อย่างนั้นก็มาทำด้วยกันนะ

ตาต้า : ชวนค่ะ เริ่มชวนแล้ว


ถาม : ลองทำแล้วลองเล่นแล้ว เราใช้เวลากี่วันลองทำ ลองเล่นนานไหม

ตาต้า : ประมาณสองถึงสามอาทิตย์แต่ว่าใช้ช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์


ถาม : เราคิดว่าที่ลองทำแล้วยากสุดสำหรับเรา ทำไม่ได้สักทีคืออะไร

ตาต้า : ลูกข่างค่ะ


ถาม : เวลาที่เราทำไม่ได้ เราเดินไปถามผู้รู้ไหม ทำไมไม่ได้สักที

ตาต้า : ไปถามเหมือนกันค่ะว่าทำไมมันไม่หมุน เขาก็จะบอกว่าต้องขัดให้มันสมดุลกัน


ถาม : หลังจากที่เราลองทำ ลองเล่นแล้วขั้นตอนต่อไปเราทำอะไรต่อคะในกิจกรรม

ตาต้า : จะมีของเล่นที่เหลือที่เราไม่ได้ไปถามผู้รู้ เป็นของเล่นทั่วไป เช่น กระโดดยาง เราทำเองได้ เราก็ทำขึ้นมาแล้วเอาของเล่นที่เราจัดขึ้นมาครบแล้วมาทำเป็นนิทรรศการของเล่น ให้คนในหมู่บ้านมาดู


ถาม : ไม่ใช่แค่ 4 อย่างที่เราทำ อันไหนที่เราทำเองได้เราก็ไปรวบรวมมาด้วย รวมแล้วประมาณกี่อย่างของ เล่นที่เรารวบรวมไว้ทำนิทรรศการ

ตาต้า: 27 อย่าง


ถาม : ใช้เวลานานไหมในการรวบรวมกว่าจะได้ 27 อย่าง นี้

ตาต้า : เกือบเดือนได้ พวกเราใช้เวลาในช่วงเสาร์ อาทิตย์ ในการรวบรวม


ถาม : อย่างที่เหลือมีเราไปหาจากในเน็ตแล้ว เราหาจากตรงไหนอีกบ้างไหม

ตาต้า : ก็จากที่พวกเราเคยได้เล่นตอนเด็ก ๆ ด้วย


ถาม : เอาจากตัวเองด้วยว่าเคยเล่นอะไรกันบ้าง เช่นอะไรบ้างที่เราเคยเล่นกันตอนเด็ก

ตาต้า : กระโดดยาง หมากเก็บ ว่าว


ถาม : ตอนที่เรามาระดมความคิดกันว่าเราเคยเล่นอะไรบ้าง ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรกันบ้าง

ตาต้า : อยากกลับไปเล่นอีก ตอนเด็กเราก็เล่นกันมาก่อน


ถาม : สนุกไหมตอนที่เราช่วยกันคิด

ตาต้า : สนุกดีค่ะ พอเรามาช่วยกันคิดมันก็สนุกดีค่ะ แล้วก็ได้ชื่อของเล่นเยอะเลย


ถาม : เราคิดไหมว่าเราจะได้ชื่อของเล่นมาเยอะขนาดนี้

ตาต้า : ก็ไม่คิดว่าเราจะได้ชื่อของเล่นเยอะขนาดนี้


ถาม : รวบรวมของเล่น การละเล่นได้ทั้งหมด 27 อย่างแล้วเราทำอะไรต่อ

ตาต้า : จัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านแล้วก็เอาของเล่นที่เราทำมาให้น้อง ๆ เล่นกัน แล้วก็ตั้งโชว์


ถาม : ของเล่นทั้งหมด 27 ชิ้นที่รวบรวมมาเราเอามาให้น้องเล่น ทั้งหมด 27 ชิ้นเลยไหม

ตาต้า : ไม่ค่ะ เราเลือกบางอย่างให้เล่นค่ะ แล้วส่วนที่เหลือเอาตั้งโชว์ แต่มันก็ไม่ครบ 27 ชิ้นค่ะ เพราะว่าบางอย่างอุปกรณ์ไม่มี แล้วหายากด้วย


ถาม : เราคัดมาเหลือทั้งหมดเท่าไหร่ที่มีอุปกรณ์และสถานที่เอื้ออำนวยให้น้องเล่นได้ จากทั้งหมด 27 ชิ้นที่เราบอก

ตาต้า : ประมาณ 10 กว่าอย่างได้


ถาม : ตอนจัดกิจกรรมที่ให้น้อง ๆ มาเล่นการละเล่นพื้นบ้านด้วย ลองเล่าหน้าที่ของเราสามคนได้ไหมว่าแต่ละคนในวันนั้นเราทำอะไรกันบ้าง

ตาต้า: แต่ก่อนที่จะจัดการละเล่นพื้นบ้าน เราถ่ายทำวิดีโอการละเล่นพื้นบ้าน เกี่ยวกับของเล่นแล้วพอเราถ่ายเสร็จแล้วก็เอาไปลงเพจของเราด้วย เชิญชวนมาร่วมงานการละเล่นพื้นบ้านของเรา


ถาม : เราชวนคนในชุมชนหรือว่าใคร

ตาต้า : คนในชุมชนแล้วก็เยาวชนในหมู่บ้านอื่นมาร่วมเล่นได้


ถาม : เพจเป็นเพจของเราเองเลยหรือว่าอย่างไร

ตาต้า : เป็นเพจของกลุ่มเยาวชนบ้านโกตา


ถาม : เป็นการประชาสัมพันธ์ก่อนว่าถ้าใครสนใจก็มาร่วมกิจกรรมกับเราได้

ตาต้า : ค่ะ แล้วก็มีการขี่รถวนรอบหมู่บ้าน แล้วก็ประชาสัมพันธ์แบบใช้ไมค์กับลำโพง คล้ายๆ กับรถแห่ ขี่รถซาเล้ง ทำป้ายไวนิลติดหน้าโรงเรียน สถานที่จัดเราจัดที่โรงเรียนมีติดโปสเตอร์ ก่อนวันงานเราก็เตรียมสถานที่


ถาม : ก่อนวันงานพวกเราแบ่งงานกันอย่างไร ใครประชาสัมพันธ์

ตาต้า: ขี่รถประชาสัมพันธ์ไปประมาณ 5-6 คน ให้บังขับรถ กัสเป็นคนประชาสัมพันธ์ แล้วมีคนถ่ายทอดสด คนที่เหลือก็ลงไปติดโปสเตอร์


ถาม : บรรยากาศคือขี่รถซาเล้งไปแล้วกัสเป็นคนพูด ประชาสัมพันธ์ เชิญชวน เขินไหมหรือว่าถนัดอยู่แล้ว

กัส : งานถนัดค่ะ ตอนนั้นที่พูดก็พูดตามโปสเตอร์เลยค่ะ มีร้องเพลงด้วยค่ะ


ถาม : คนที่ไปด้วยพอถึงสถานที่ลงไปติดโปสเตอร์กัน ตาต้าไปด้วยไหม ตอนนั้นเราทำอะไร

ตาต้า : หนูลงไปติดโปสเตอร์ค่ะ


ถาม : นาเดียไปด้วยไหมวันนั้น

นาเดียร์: ไปค่ะ ไปติดโปสเตอร์


ถาม : ติดโปสเตอร์ตามบ้านใช่ไหมที่เราบอก

นาเดียร์ : ค่ะ แต่ไม่ได้ติดทุกบ้าน ส่วนมากจะเน้นร้านค้า ลงไปบอกเขาว่าขอติดโปสเตอร์หน่อยนะคะ เขาถามว่ามาจากโครงการไหน ทำอะไร เราก็เล่าให้เขาฟัง


ถาม : บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ใหญ่ คนในชุมชน เด็ก ๆ ให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหนตอนนั้น

นาเดียร์ : ก็ให้ความสนใจอยู่ค่ะ มาช่วย วันงานก็มา น้อง ๆ บางคนก็มาช่วยเตรียมสถานที่ด้วย


ถาม : อย่างทำป้ายไวนิลทำกันเองหรือว่าเราจ้างเขาทำ

นาเดียร์ : นาเดียร์เป็นคนทำ โปสเตอร์ ป้ายค่ะ


ถาม : เราทำออกแบบเองหมดเลยใช่ไหม เราชอบทางด้านนี้หรือว่าอย่างไร

นาเดียร์ : ก็ชอบด้วย มีความถนัดเรื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้วค่ะ


ถาม : ยากไหม

นาเดียร์ : นิดหน่อยค่ะ


ถาม : เรื่องสถานที่โรงเรียนที่เราจะใช้จัดสถานที่กิจกรรม ใครเป็นคนไปประสาน ขอสถานที่

นาเดียร์ : ไปกับพี่เลี้ยง มีพวกหนู พี่เลี้ยงเข้าไปขอใช้สถานที่ ไปคุยกับทางผอ.ว่าขอใช้สถานที่วันนี้ เวลานี้เชิญ ผอ. มาร่วมงานด้วย


ถาม : แล้วผลตอบรับจาก ผอ.เป็นอย่างไรบ้าง

นาเดียร์ : ผอ.ก็บอกว่าดีตั้งแต่ช่วงโควิด เราก็จะมีการป้องกันใส่แมส ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์


ถาม : โรงเรียนที่เราจัดชื่อโรงเรียนอะไรนะคะ

ตาต้า : โรงเรียนบ้านโกตาค่ะ


ถาม : เรื่องอุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมให้น้อง ๆ เล่นเป็นอย่างไรบ้าง

ตาต้า ก็เตรียมอุปกรณ์ก่อนวันงาน ซื้ออุปกรณ์มา


ถาม : อุปกรณ์ที่ว่าคือเป็นอุปกรณ์ที่สำเร็จพร้อมให้น้อง ๆ เล่นแล้วหรือว่าให้น้อง ๆ ได้ลองทำด้วย

ตาต้า : แล้วก็มีบางอย่างให้น้องได้ลองทำด้วย


ถาม : ของเล่นที่ให้น้องลองทำมีอะไรบ้าง ที่เราออกแบบกันวันนั้น

ตาต้า : ก็มีกระบอกฉับโพง รถของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ จากกระป๋อง


ถาม : ของที่เราเตรียมเราคิดว่าจะมีน้อง ๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมประมาณกี่คนที่เราเตรียมไว้

ตาต้า : ประมาณ 50 คนได้ เพราะเวลาทำเราจะแบ่งให้น้อง ๆ ทำกันเป็นกลุ่ม สลับกันทำ


ถาม : แล้วน้องมาถึง 50 คนไหมวันงาน

ตาต้า : เกินค่ะ


ถาม : วันงานมาประมาณกี่คน

ตาต้า : มีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ด้วยประมาณร้อยกว่าๆ ได้


ถาม : พอเราตั้งไว้แค่ห้าสิบแต่พอวันงานมาถึงร้อยคน ความรู้สึกแรกของเราเป็นอย่างไรบ้าง

ตาต้า : ดีใจที่มาเกิน สะตั้นด้วย


ถาม : แล้วอย่างนี้อุปกรณ์ที่เราเตรียมไว้พอกับจำนวนคนที่มาร่วมไหม

ตาต้า : สลับกันเล่น


ถาม : ในวันงานเราแบ่งหน้าที่อย่างไง ใครดูแลตรงไหนกันบ้างแต่ละคน

ตาต้า : มีพิธีกร มีพวกเราคอยแนะนำน้อง ๆ เตรียมเครื่องเสียง ฝ่ายอาหาร แต่อาหารจะมีผู้ใหญ่มาช่วย


ถาม : พิธีกรใครเป็น มีการซักซ้อมก่อนไหม

ตาต้า : กัสเป็นค่ะ ไม่ได้ซ้อมค่ะ สด ๆ เลย


ถาม : เราตื่นเต้นไหม เพราะว่าตอนแรกเราก็กะไว้ห้าสิบคนพอวันงามาถึงร้อยคน แล้วมีผู้ใหญ่มาด้วยตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

กัส: ช่วงเย็นยังไม่ตื่นเต้น เพราะว่ามีแต่เด็ก ๆ แต่ช่วงเย็นมีผู้ใหญ่มา เป็นช่วงการละเล่นของผู้ใหญ่ มีการแสดงด้วย


ถาม : ถ้างั้นเราเล่ารูปแบบให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ารูปแบบกิจกรรมของเราเป็นอย่างไรบ้าง

กัส : กิจกรรมแบ่งเป็นสองช่วงค่ะ เย็นกับค่ำ เย็นจะเป็นกิจกรรมของเด็ก ๆ มีสันทนาการแล้วค่อยแบ่งกันเล่นของเล่น แล้วพอช่วงค่ำก็เป็นของผู้ใหญ่ มีผู้ใหญ่บ้านมาเปิดงานให้ ให้พวกเราทีมงานได้ออกมาพูด แนะนำว่าเราได้มีการจัดกิจกรรมในหมู่บ้านตอนแรกคนในหมู่บ้านคิดว่าเราจะทำโครงการสำเร็จหรือ


ถาม : ตอนที่เขาพูด เขาพูดตอนไหนที่บอกว่าเราจะทำสำเร็จไหม

กัส : ตอนก่อนจะจัดงาน


ถาม : ตอนที่เราได้ยินคำพูดแบบนั้นเรารู้สึกอย่างไร

กัส : ก็คิดในใจว่าก็คอยดู


ถาม : ตอนที่เราได้ยินคำพูดแบบนั้นเรารู้สึกอย่างไรบ้างท้อไหม หรือว่าเป็นแรงผลักดันให้เรา

กัส : เป็นแรงผลักดันให้เรา


ถาม : พอถึงวันงานผู้ใหญ่คนนั้นเขามาร่วมกิจกรรมกับเราไหม

กัส : มาค่ะ แล้วเราก็ฉายหนังที่เราทำกันใส่จอโปรเจคเตอร์ เขาก็ตกใจว่าเรากันได้ขนาดนี้เลย


ถาม : ผู้ใหญ่คนเดิมมาพูดหรือว่าคนอื่น ๆ ที่เขามาพูดกับเรา

กัส : คนที่เคยว่าเราด้วย แล้วก็คนอื่นด้วยเขาชมว่าเราเก่ง


ถาม : ตอนที่เขาชื่นชมเรา เรารู้สึกอย่างไรบ้าง

กัส : ดีใจค่ะ


ถาม : อยากรู้ว่าตัวเราเองตอนที่ทำโครงการเราเองคิดไหมว่าเราจะทำสำเร็จมาจนถึงตอนนี้

ตาต้า : ตอนแรกไม่แน่ใจว่าเราจะทำสำเร็จไหม แต่ว่าเราก็อยากทำให้สำเร็จ พอทำสำเร็จก็รู้สุกภูมิใจในตัวเอง


ถาม : เวทีนี้เหมือนกับว่าเราคืนข้อมูลชุมชนใช่ไหมผู้ใหญ่ที่มา เราตั้งใจไว้แต่แรกแล้วใช่ไหมว่าจะให้เขา มาร่วมกิจกรรมอยู่แล้ว แล้วช่วงเย็นที่มีสันทนาการของเด็ก ๆ เราคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ ใช่ไหม แล้วมีปัญหาอะไรไหม ติดขัดอะไรหรือเปล่า

ตาต้า : ตอนเย็นไม่มีค่ะ


ถาม : น้องที่มาเล่น เขาพูดอะไรให้เราฟังบ้างไหม

ตาต้า : เหมือนกับว่าเรามีการจัดแข่งกระโดดยาง มีสมุดปากกาให้น้อง ๆ ด้วย


ถาม : กิจกรรมที่เราบอกว่ามีแข่งเล่นการละเล่นเราวางแผนกันไว้แล้วใช่ไหม แล้วถ้าให้ประเมินกิจกรรมช่วงเย็นเป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ไหม

ตาต้า : เป็นไปตามแผนค่ะ


ถาม : เราวางแผนไว้ว่าอย่างไรบ้างช่วงเย็นลองเล่าให้พี่ฟังหน่อย

ตาต้า : ความคาดหวังอยากให้น้องสนุกกับกิจกรรมที่ออกแบบไว้


ถาม : ช่วงค่ำบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนยังเหมือนเดิมไหม ใครทำอะไรบ้าง

ตาต้า : เหมือนเดิมค่ะ


ถาม : กัสตื่นเต้นไหม ช่วงเย็นต้องพูดกับผู้ใหญ่

กัส : ตื่นเต้นนิดหน่อย กัสร้องไห้ด้วยเพราะว่าตื้นตันที่ได้พูดเกี่ยวกับการทำโครงการ มันบอกไม่ถูก ร้องด้วยความภาคภูมิใจ เพราะไม่คิดว่าผู้ใหญ่จะให้ความร่วมมือดีขนาดนี้


ถาม : ที่บอกผู้ใหญ่ให้ความร่วมมือมันถึงขั้นไหนหรอเราถึงรู้สึกร้องไห้ ตื้นตันจนร้องไห้ออกมา

กัส : พวกเราเคยจัดมาแล้วครั้งหนึ่ง เชิญเขามาแล้วไม่มีใครมา เราเลยกลัวว่าจะเป็นแบบเดิม แต่ถึงวันงานมีคนมาเยอะ เราก็เลยร้องไห้


ถาม : ตอนที่เราบอกว่าจัดไปแล้วครั้งหนึ่งไม่มีใครมาเป็นช่วงไหน

กัส : ช่วงกลาง ๆ แต่ว่าไม่ได้จัดใหญ่ขนาดนี้ จัดแบบเล็ก ๆ มีผู้ใหญ่มาแค่ประมาณ 2-3 คน


ถาม : ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรบ้างที่มากันไม่กี่คน ท้อไหม

กัส : น้อยใจนิด ๆ ว่าทำไมไม่ให้ความร่วมมือกันเลย


ถาม : อย่างที่เราบอกว่าช่วงเย็นเป็นการละเล่นของผู้ใหญ่ ของเล่นผู้ใหญ่มีอะไรบ้าง

ตาต้า : ลูกสะบ้า กระโดดยาง ลูกข่าง


ถาม : ผู้ใหญ่เขาพูดหรือว่าเขาสะท้อนอะไรให้เราฟังบ้างไหม

ตาต้า : อย่างลูกสะบ้า ผู้ใหญ่บอกว่ามันหายไปนานแล้วพอได้กลับมาเล่นก็ดีเหมือนกัน เขาก็ดีใจที่ได้กลับมาเล่นอีก


ถาม : ตอนเย็นมีปัญหาอะไรไหม ติดขัดอะไรหรือเปล่า

กัส : มีช่วงค่ำนิดนึง พวกเราเชิญเยาวชนบ้านทุ่ง มาแสดงปัญจักสีลัตด้วย มาได้แสดงจบแล้วแต่ว่ามีปัญหาคือก่อนหน้าเราไม่รู้ว่าต้องขอเจ้าที่ก่อน แต่เราไม่ได้ขอ ตอนประชุมกับทางผู้ใหญ่บ้านเขาก็บอกว่าได้ไม่มีปัญหา พวกหนูก็เลยไม่ได้อะไร เหมือนกับว่าเราเอาของจากหมู่บ้านอื่นมาแสดงในหมู่บ้านเรา แล้วปัญจักสีลัตเหมือนมโนราห์ มีครูของเขา แล้วเราไม่ได้ขอ ก็เลยมีสิ่งลี้ลับเข้าคนในงาน


ถาม : แต่ว่าถ้าพูดถึงกิจกรรมการละเล่นของเราไม่ได้มีปัญหาอะไรใช่ไหม อุปกรณ์การเล่นก็เล่นกันทั่วถึง บรรยากาศมีไหมที่ผู้ใหญ่มานั่งคุยกัน เป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนมีไหม

ตาต้า : มีค่ะ


ถาม : อย่างเวทีนี้ถ้าให้เราบอกถึงความประทับใจของเราเรารู้สึกประทับในช่วงเวลาไหน หรือเหตุการณ์ไหนมากที่สุด

กัส : ของกัสตอนฉายหนังค่ะ

กัส : หนังสั้นเราทั้งตัดต่อเอง เราถ่ายเอง แล้วพอเขาดูหนังจบแล้วเขาก็ปรบมือให้เราว่าดี ๆ เราเลยรู้สึกประทับใจ


ถาม : ตอนที่เราตัดต่อวิดีโอ ที่บอกว่าช่วยกันทำ ใครเป็นคนทำหรือว่าช่วยกัน

กัส : กัสกับเดียร์ค่ะ แล้วตอนถ่ายทำหนูถ่ายด้วย (ตาต้า) แล้วก็กัสถ่ายด้วย สลับกันบางฉากหนูต้องเข้าฉาก กัสจะถ่าย บางฉากกัสต้องเข้าหนูก็จะเป็นคนถ่าย


ถาม : หลัก ๆ เวลาถ่ายจะเป็นเราสามคน เวลาทำกิจกรรมใช่ไหม

กัส : ละครในเรื่องจะมีตัวละครสมมุติ


ถาม : ของกัสจะประทับใจผลตอบรับของคนดูที่เขาดูคลิปของเราเพราะว่ามีเสียงปรบมือเราเลยภูมิใจ แล้วของตาต้าละประทับใจอะไรในเหตุการณ์นั้นบ้าง

ตาต้า : ช่วงค่ำค่ะที่ผู้ใหญ่เขาสนุกกัน เขาพูดเหมือนกับว่างานนี้ทำให้เขาได้กลับมาเล่นกันอีกครั้ง ดีที่เราจัดกิจกรรมแบบนี้


ถาม : นาเดียร์ละ ประทับใจอะไรบ้างวันนั้น

นาเดียร์ : ประทับใจที่งานสำเร็จไปได้ด้วยดี คนชื่นชมโปสเตอร์ว่าประชาสัมพันธ์ดีก็เลยมาร่วมงาน


ถาม : หลังจากจบกิจกรรมนี้แล้วเรามาทำอะไรกันต่อไหมคะ

ตาต้า : ยังไม่ได้ถอดบทเรียนค่ะ เพราะว่าจริง ๆ แล้วกิจกรรมถอดบทเรียนมันจะอยู่ในตอนค่ำแต่ว่ามีเรื่องสิ่งลี้ลับก่อนก็เลยไม่ได้ถอดบทเรียนในวันนั้น


ถาม : ยังไม่ได้ถอดบทเรียนคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมใช่ไหม แล้วพวกเรากันเองพอหลังเสร็จงานแล้วเรามา ถอดบทเรียนกันเองไหมคะ มาพูดคุยกันไหมว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ตาต้า : มาพูดคุยกันอยู่ค่ะ ว่าที่เราทำมาทั้งหมดมันสำเร็จไปได้ด้วยดีแล้วแต่ติดอยู่เรื่องนั้นเรื่องเดียว


ถาม : แล้วเพื่อน ๆ ให้ความร่วมมือกันดีไหมในวันงาน

ตาต้า : ให้ความร่วมมือกันดีค่ะ


ถาม : พอหลังจากจบงานน้อง ๆ ที่ไปร่วมกิจกรรมด้วย เป็นไปตามที่เราวางไว้ไหมว่าเขาเล่นมือถือน้อยลง แล้วมาเล่นของเล่นพื้นบ้านมากขึ้น

ตาต้า : ก็มีเล่นมือถือบ้าง แต่ว่าก็จะเล่นของเล่นพื้นบ้านบางช่วง เหมือนถ้าเป็นว่าวก็จะเล่นช่วงฤดูเล่นว่าวของเล่นแต่ละอย่างก็จะเล่นเป็นช่วง ๆ ไป


ถาม : เราคิดว่าจบกิจกรรมนี้แล้วโครงการที่เราทำมีประโยชน์กับชุมชนเราไหม อย่างไรบ้าง

ตาต้า : มีประโยชน์เพราะว่าช่วยให้เราห่างจากโทรศัพท์ แล้วช่วยให้เด็กได้ห่างจากยาเสพติด


ถาม : แล้วกับตัวเราเองโครงการนี้เราคิดว่ามีผลอะไรกับเราไหม

ตาต้า : ก็ทำให้เราเกิดความสามัคคี ร่วมมือกัน


ถาม : อันนี้คือภายในทีมแล้วถ้ากับตัวเราที่มีต่อชุมชนเรารู้สึกเปลี่ยนไปไหม อย่างไรบ้าง

ตาต้า : เวลามีงานอะไรเขาก็เชิญพวกเราให้ไปร่วมด้วย


ถาม : ก่อนหน้านี้เขามาชวนอะไรเราไหม

ตาต้า : ก่อนหน้านี้แทบจะไม่มี เขาไม่ได้มาชวนแบบนี้


ถาม : เหมือนกับว่าก่อนหน้านี้เขาทำอะไรก็ได้มาชวนเรา แต่พอหลังจากที่เขามาเห็นเราจัดงาน จัดกิจกรรมนี้ พอมีงานอะไรก็จะมาชวนให้เราไปร่วมด้วย แล้วเรารู้สึกอย่างไรบ้างที่เราได้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแบบนี้

ตาต้า : ก็ดีใจค่ะได้มีส่วนร่วม


ถาม : ถ้าพูดถึงของเล่น เรารู้สึกอย่างไรบ้าง ประทับใจ อึ้ง ไหมว่ามีแบบนี้อยู่ด้วยหรอ อยากกลับไปเล่น

ตาต้า : อยากกลับไปเล่นค่ะ


ถาม : หลังจากที่เราจัดกิจกรรมไปแล้ว น้อง ๆ หรือว่าผู้ใหญ่ในชุมชนเขาเอากลับไปทำเล่นกันบ้างไหม

ตาต้า : มีค่ะ เช่น กระบอกฉับโผง กระโดดยาง มีการเล่นรถของเล่น ที่ทำจากกระป๋อง


ถาม : ก็คือเห็นว่าหลังจากที่เขามาร่วมกิจกรรมของเรา เรียนรู้วิธีการทำกับเราเขาก็เอาไปทำเล่นกันเองด้วย อยากรู้ว่าหลังจากทำกิจกรรมเสร็จแล้วได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีเลยเราคิดว่าสำหรับตัวเราเอง เราเห็นความสามารถอะไรของเราที่พัฒนาขึ้นจากเดิมไหม หรือเรื่องที่เราไม่เคยทำมาก่อนแต่พอได้ทำแล้วรู้สึกพัฒนาขึ้นมีบ้างไหม

กัส : การพูดค่ะ เรื่องการกล้าแสดงออกเพราะว่ามันดีขึ้นกว่าเดิม จากที่จับไมค์แล้วสั่น ๆ ตอนนี้ก็ไม่สั่นแล้ว พูดเก่งขึ้น

ตาต้า : คล้ายกับกัส เรื่องของความกล้าแสดงออก แล้วก็บางครั้งมาถอดบทเรียนรวมกันที่ชมรมก็มีการพูดใส่ไมค์ทำให้เรากล้ามากขึ้น แล้วก็เรื่องวิดีโอที่เราทำกันไป พวกหนูก็ได้ไปถ่ายทำในวิชาภาษาไทยที่ครูสั่งก็ใช้ทักษะที่เราเคยถ่ายวิดีโอในโครงการ

นาเดียร์ : เรื่องการพูด การได้ออกไปข้างนอกไปพูดกับคนอื่น เพราะว่าปกติไม่ค่อยชอบออกไปข้างนอก


ถาม : ตอนที่นาเดียร์เข้าร่วมโครงการใครไปชวนมาหรือว่าเราเห็นว่ากิจกรรมมันน่าสนใจเราเลยมาร่วม

นาเดียร์ : ตอนแรกก็กัสค่ะ เขาให้ไปช่วยถ่ายหนังสั้น แล้วหลังจากนั้นเขาเลยชวนมาร่วมโครงการด้วย


ถาม : มีอะไรที่เราได้รับความรู้เพิ่มเติมจากการทำโครงการนี้แล้วเอาไปพัฒนาความสามารถของเราเพิ่มขึ้นไหม ของนาเดียร์

นาเดียร์: การทำโปสเตอร์ที่จริงยังไม่ได้เรียน แต่ว่าได้มาลองทำในโครงการนี้


ถาม : แล้วมีเราเอาไปปรับใช้ในห้องเรียนบ้างไหม

นาเดียร์ : มีค่ะ เช่น เวลานำเสนองานในรูปแบบสไลด์ค่ะ


ถาม : เราชอบของเล่นอะไรมากที่สุด คนละหนึ่งอย่างเพราะอะไรลองบอกหน่อย

ตอบ : (ตาต้า) ชอบลูกข่าง มันทำยากไปหน่อย แต่ก็ฝึกให้เรารู้จักความอดทน มีสมาธิมากขึ้น (กัส) หนูชอบกระบอกฉับโพง เพราะว่าเวลาทำ เราได้เข้าป่าไปหาวัสดุมา แล้วทำให้เราสนุก อยากทำ เหมือนกับทุกคนให้ความสนใจ ช่วยกันหา ทำให้เราเล่นไปหาไป มีความสุขในช่วงเวลาหนึ่ง ต้องเข้าไปริมคลองด้วย พอขากลับได้เล่นน้ำคลองด้วย (นาเดียร์) ชอบหมากขุม เพราะว่าหนูไม่เคยเล่น ได้มาเล่นในการทำโครงการนี้


ถาม : จบโครงการเรารู้สึกว่าเรายังอยากทำไหมเกี่ยวกับโครงการของเล่นการละเล่นพื้นบ้านของเรา

ตาต้า : ไม่แน่ใจแต่ที่คุย ๆ กันไว้กับพี่เลี้ยงคืออยากทำเกี่ยวกับเรื่องอื่นแทน


ถาม : โครงการที่เราทำสำเร็จตามเป้าหมายที่เราทำไหม

ตาต้า : ก็บรรลุ


ถาม : ที่เราบอกว่าตอนที่เราทำของเล่นกัน มีเพื่อนที่สนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง พี่อยากถามว่าเราก็นัดเพื่อนมา จริง ๆ เขาไม่มาก็ได้ แต่เขาไม่ทำ เราคิดว่าทำไมเขาถึงมาทั้ง ๆ ที่มาแล้วก็ไม่ทำ

ตาต้า : ในความคิดหนูเขาอาจจะคิดว่ามาให้เพื่อสมาชิกคนอื่นเห็นเฉยๆ


ถาม : เป็นเพราะว่าเขากลัวว่าเราดุหรอ

ตาต้า : เขาอาจจะเกรงใจพี่เลี้ยงมากกว่า


ถาม : ตัวตาต้าเองเล่นเกมออนไลน์ไหม

ตาต้า : หนูไม่ค่อยได้เล่นค่ะ ส่วนมากเล่นยูทูปมากกว่า


ถาม : ไม่งั้นพี่อยากให้เราช่วยแชร์หน่อยว่าที่เราเล่นเกมออนไลน์ กับเล่นของเล่นพื้นบ้าน มันให้ความรู้สึกต่างกันอย่างไร แต่เราเคยถามคนอื่นไหมเพราะว่าเราไม่ได้เล่น หรือว่าเรามีคำตอบให้พี่ไหม เหมือนเราใช้เวลาไปกับการเล่นยูทูปหรือว่าอยู่กับมือถือเยอะ พอเรามีประสบการณ์เล่นของเล่นโบราณ พวกนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไรบ้าง

ตาต้า : การละเล่นและของเล่าพื้นบ้านฝึกพัฒนาสมอง ฝึกสมาธิ แต่ถ้าเป็นโทรศัพท์เราต้องจดจ่อกับมัน แล้วเราไม่ได้ทำอะไรเลย


ถาม : ถึงแม้ว่าเราจะมาทำโครงการทีหลัง หลังจากที่เราได้โครงการของเล่นมาแล้ว พี่อยากให้เราเล่าถึงชุมชนเราหน่อยได้ไหมว่ากว่าที่จะได้เรื่องของเล่น ชุมชนเราเป็นชุมชนแบบไหนถึงได้เลือกแก้ปัญหาเด็กติดมือถือด้วยการสืบค้นการละเล่นพื้นบ้านของเราซึ่งพอสืบค้นแล้วมันก็มีการละเล่นพื้นบ้าน 20กว่าอย่าง ช่วยเล่าภาพชุมชนให้ฟังหน่อย อยู่กันอย่างไร

ตาต้า: เป็นชุมชนที่ไม่ได้ใหญ่มาก เล็ก ๆ มีครอบครัวประมาณร้อยกว่าครัวเรือน มีเด็ก ๆ บ้านติด ๆ กัน จะรวมตัวเล่นโทรศัพท์กัน เห็นแบบนั้นเราก็อยากให้น้องมาเล่นการละเล่นพื้นบ้านบ้าง ไม่อยากให้มาจดจ่อแต่โทรศัพท์ เพราะจะทำให้สายตาเสีย


ถาม : เราพอจะรู้ไหมว่าก่อนทำโครงการเรื่องของเล่นพื้นบ้านของชุมชนเราพอจะรู้จักมาบ้างไหม รู้แค่ไหน

ตาต้า : เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ ก็เล่น แต่ว่ามันไม่ได้มีครบทุกอย่าง มีบางอย่างที่ไม่มี


ถาม : แปลว่าก็รู้จักมาบ้าง และคิดว่ามีเยอะประมาณหนึ่งแหละแต่ก็ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ แล้วพอเราสืบค้นข้อมูล รู้แล้วว่ามีของเล่นเยอะมากมายขนาดนี้แล้ว ในชุมชนเด็ก ๆ ยังเล่นกันอยู่ไหม

ตาต้า : ก็เล่นค่ะ แต่ก็เป็นบางคน ยังมีการเล่นของเล่นบ้าง


ถาม : อย่างการเล่นของเล่นมันทำให้เราได้กลับมาคุยกันมากขึ้นไหม

ตาต้า: คุยกันเยอะขึ้น อย่างของเล่นบางอย่างเราก็ต้องเล่นกันเป็นกลุ่มมันก็ทำให้เราได้มาอยู่ร่วมกัน


ถาม : ในสามคนนี้มีคนที่เราสนิทมากขึ้นไหม

ตาต้า : มีค่ะ บางทีเมื่อก่อนเรารู้จักแต่เราไม่สนิทกัน พอเรามาทำโครงการนี้ก็ทำให้สนิทกัน


ถาม : ในชุมชนนอกจากพวกเราที่เป็นแกนนำรู้วิธีเล่นของเล่นต่าง ๆ แล้วตอนนี้เด็กคนอื่นเวลาเขาอยากเล่นของเล่น เขาสามารถเล่นได้เองไหมหรือว่าต้องไปตามเรามาช่วยสอน

ตาต้า : เขาสามารถเล่นได้เอง แต่ว่าบางอย่างเขาก็จะมาถาม


ถาม : ชุมชนเราก่อตั้งมานานแล้วหรือยังพอรู้ประวัติไหม

กัส : ตั้งแต่พญาเขี้ยวงอก ตอนแรกเป็นชุมชนที่เล็กกว่าตอนนี้ อยู่ตามภูเขาและริมคลองแต่ว่าพอมาอีกสักพัก เขาก็เริ่มขยายชุมชนออกมา ชุมชนเราเขาเรียกว่าเป็นด่านหน้า เป็นสถานที่บุกเบิกละงู แต่คนไม่ค่อยรู้จักกัน


ถาม : แปลว่าบ้านโกตาก็มีแรก ๆ ของอำเภอละงู แล้วอย่างพวกเพื่อนพี่ ๆ ผู้ชายที่เขามาตั้งแต่แรก ๆ ช่วงหลังเขาช่วยอะไรเราบ้างไหม

ตาต้า : ก็ช่วยค่ะ ช่วงหลัง ๆ ให้ความร่วมมือมากขึ้น แต่ก็ต้องคอยบอกว่าให้เขาทำอะไร ตรงไหน